วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

หนูแทะหนังสือ

หนูแทะหนังสือ
**ครูหนู
การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ หลายชาติหลายภาษาต่างก็พยายามสนับสนุนให้คนในชาติอ่านหนังสือกัน อันที่จริงการที่ได้มาซึ่งความรู้สามารถทำได้หลายอย่าง เช่นดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ฟังผู้มีความรู้ประสบการณ์พูดก็ล้วนแต่ได้รับความรู้ทั้งนั้น นักจิตวิทยาการศึกษากล่าวว่าการได้ความรู้จากการดูโทรทัศน์เป็นการรับสารฝ่ายเดียว ผู้รับไม่ค่อยมีโอกาสสร้างสรรค์จินตนาการมากนัก เนื่องเพราะส่วนใหญ่โทรทัศน์สร้างภาพให้แล้ว เมื่อเปรียบเทียบการการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่จะช่วยให้ผู้อ่านสร้างจินตนาการไม่มีขอบเขต ในหนังสือส่วนใหญ่จะมีแต่ตัวหนังสือ ซึ่งเป็นรหัสซึ่งผู้อ่านต้องถอดรหัสเอง สร้างภาพสร้างจินตนาการเองขณะอ่าน ดังนั้น นักการศึกษาทั้งหลายจึงยกย่องให้การอ่านเป็นพระเอกในเรื่องของการเสาะแสวงหาความรู้ ผมรู้จักอ่านเมื่อเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไม่ได้เข้าอนุบาลเพราะสมัยนั้นไม่มีระดับอนุบาล การเตรียมความพร้อมก็ว่ากันไปในระดับประถมเลย ครูสอนให้อ่านอะไรก็อ่านไปตามเรื่องตามราว หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคบังคับ แล้วไปเป็นคาวบอยอยู่ 1 ปี ดูแลวัวประมาณสิบกว่าตัว รู้สึกว่าการอ่านขาดหายไป ปีต่อมาพ่อจับให้บวชเรียนเพราะคิดว่าเป็นช่องทางที่ชีวิตจะก้าวหน้าเพราะได้เรียนหนังสือ ถ้าเรียนในระบบจะมีค่าใช้จ่ายมาก ต้องเรียนนอกระบบ เรียนในวัด จึงมีโอกาสได้อ่านเป็นเรื่องเป็นราว เริ่มจากถูกบังคับให้อ่านหนังสือนักธรรมชั้นตรี โท และเอกตามลำดับ บวชเรียนอยู่ 4 ปี อ่านทุกคืน ทุกวัน มีกฎว่าต้องอ่านหนังสือถึงสี่ทุ่มจึงเข้านอนได้ ตื่นเวลาตีสีทำวัตรเช้าเสร็จ อ่านหนังสือต่อก่อนทำภารกิจกิจอื่น วิธีการเรียนที่ค่อนข้างโบราณสมัยนั้น แต่น่าจะนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนปัจจุบันได้ด้วยคือการท่องจำ นักศึกษานักธรรมทุกคนต้องท่องจำตำรา ได้ทุกตัวอักษรนักธรรมชั้นตรีต้องจำหนังสือนวโกวาทได้ทั้งเล่ม เพราะเป็นสิกขาบทของพระภิกษุต้องจำได้ทุกมาตรา(สิกขาบท) แล้วมาท่องให้ครูฟัง จึงจะอธิบายขยายความได้ การที่จะจำได้อย่างนั้นมิใช่ว่าต้องท่องแบบนกแก้วนกขุนทองอย่างเดียว จำเป็นต้องนำเทคนิคอื่นเข้ามาช่วยด้วย รวมถึงการคิดวิเคราะห์ หากการเรียนการสอนปัจจุบันนำมาปรับใช้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย คงไม่ต้องถึงกับจำได้ทุกตัวอักษรหรอก เช่น ภาษาอังกฤษอาจต้องท่องกริยาสามช่อง ท่อง Tenses ท่องคำศัพท์ใหม่ ท่องกฎไวยากรณ์ต่าง ๆ ที่ครูสรุปให้อย่างสั้น ๆ ท่องประโยคที่ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วมาสาธยายให้ครูฟัง การอ่านบ่อย ๆ ของผมในครั้งนั้นทำให้รู้สึกว่ามันจะกลายเป็นทักษะ เป็นนิสัยที่จะต้องทำความความเข้าใจจากการอ่าน เริ่มมีนิสัยรักการอ่าน เมื่อสมัยไปเรียนระดับม.ปลายที่โรงเรียนผู้ใหญ่สกลราชวิทยานุกูล อาจเป็นเพราะเริ่มวัยรุ่นเต็มตัว เริ่มรู้จักคิดถึงอนาคต “อยากได้อยากดี” อยากมีผลการเรียนสูงขึ้น กอปรกับต้องเป็นอารามบอยอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยสองปีตามเวลาที่ต้องเรียน วัดนี้อยู่ตรงข้ามกับห้องสมุดประชาชนในสนามมิ่งเมือง สิ่งที่ชอบทำคือเสร็จงานวัดตอนเช้าก็ไปห้องสมุดประชาชน อ่านดะทั้งวัน บางทีก็ยืมมาอ่าน อ่านหลายเรื่องที่สนใจ สารคดี นวนิยายเรื่องยาว เรื่องสั้น อ่านเรื่องเพิ่มเติมที่เรียนจากโรงเรียน ถึงเวลา 16.00 น. จึงไปเข้าเรียนหลังจากที่ภาคปกติเขาเลิกแล้ว ผมเข้าใจภายหลังว่าจากการที่เราชอบอ่านหนังสือ มันช่วยทำให้ผลการเรียนของเราในวิชาต่าง ๆ ดีขึ้น มันเข้าไปส่งเสริมกันอย่างไม่รู้ตัว ปัจจุบันเขาเรียกว่าบูรณาการ เช่น ถ้าเราอ่านสารคดีเชิงวิทยาศาสตร์ เรื่อง Supper conductor ตัวนำยิ่งยวด ที่เป็นภาษาไทย ก็จะพลอยทำให้เราไปอ่านที่เป็นภาษาอังกฤษได้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ผลการเรียนภาคที่ 1 ออกมาแล้วได้เกรด 2.90 อยู่ลำดับที่ 5 ของห้อง ต่อมาเมื่อเรียนครบ 5 ภาคเรียน ได้เกรดเฉลี่ย 3.45 ได้อันดับที่ 1 ของทั้งภาคปกติและภาคค่ำ ต่างจากตอนจบม.ต้น (ระดับ 3) ไม่ทราบลำดับด้วยซ้ำ จบระดับ 5 (ม.ศ.5) ก็ไปต่อวิชาเอกภาษาอังกฤษในระดับ ป.กศ.สูง วิทยาลัยครูอุดรธานี หลักสูตร 2 ปี ที่นี่มีห้องสมุดที่ใหญ่มากมีหนังสือมากมายให้หนอนหนังสือได้อ่านกัน เราก็สมัครเป็นหนอนตัวหนึ่งในนั้นด้วย จุดมุ่งหมายในการอ่านหนังสือของผมอ่านเพื่ออยากรู้ ผมอยากรู้ในหลาย ๆ เรื่อง อ่านเป็นนิสัยโดยที่ครูไม่ต้องมาบังคับให้อ่าน อย่างหนังสืออ่านนอกเวลาบางครั้งก็จำกัดไม่มีเงินซื้อ ถ้าเร่งด่วนจะใช้วิธีสองหารกับเพื่อนแล้วมาฉีกแบ่งกันคนละครึ่งแล้วมาเปลี่ยนกันภายหลัง ถึงตอนจบสอบเข้าทำงานก็ต้องเตรียมอ่านเพื่อให้ได้คะแนนสูงเข้าไว้ จึงจะเข้าทำงานได้ เรามองโลกในแง่ดีว่าทุกครั้งของการสอบเขาต้องเอาคนที่มีความรู้ความสามารถแน่นอน จะไม่นึกถึงเส้นสายอะไรเลย ช่วงนี้จึงต้องใช้เทคนิคการอ่านแบบอ่านตำราวิชาการ อ่านทุกอย่างตามหลักสูตรเขากำหนด อ่านทุกบรรทัด ทุกถ้อยคำพร้อมคิด วิเคราะห์ หาเทคนิควิธีจดจำมามาช่วย เทคนิคเหล่านี้ก็ได้มาจากการอ่านอีกนั่นแหละ ส่งผลให้สอบเข้าทำงานได้ดังใจปรารถนา เมื่อทำงานพอมีเงินเดือนเริ่มซื้อหนังสือมาอ่านเอง เพราะไม่สะดวกที่จะไปยืมหนังสือจากห้องสมุดใหญ่ ๆ บ้านอยู่ไกลห้องสมุด มาทำงาน 2 ปี แล้วกลับไปเรียนต่ออีก เพราะเห็นว่าการเรียนภาษาจำเป็นต้องฝึกฝนให้มาก ๆ กับครู กับแหล่งความรู้ แต่นิสัยเข้าอ่านในห้องสมุดยังไม่เปลี่ยนแปลง ผลการเรียนตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ยังดี จบออกด้วยเกรด 3 ขึ้นไป ผมเป็นคนไม่ชอบเข้านอนดึก แต่สามารถตื่นนอนตอนดึก ๆ ได้ (Night owl) ช่วงดึก ๆ นี้แหละเป็นช่วงเวลาที่วิเศษสุด เหมาะสำหรับการอ่านเป็นอย่างยิ่ง คิดว่าสมองคงปลอดโปร่งที่สุดหลังจากพักมาทั้งคืน สามารถจัดระเบียบแฟ้มความรู้ต่าง ๆ ลงตัว คิดว่าการเป็นครูมีสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคืออ่านให้มากกว่าเด็กเข้าไว้เพื่อว่าจะได้มีความรู้ที่ทันสมัยหลาย ๆ เรื่อง สามารถนำมาบูรณาการในการสอนของเราได้ เกือบสิบปีมานี้การอ่านเปลี่ยนไป จากแทะหนังสือมาเพิ่มเป็นแทะเรื่องราวบนจอคอมพิวเตอร์จากอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ทำให้ลดปริมาณการซื้อหนังสือลงได้มาก ความสนใจในสื่ออีเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้น เวลาในการอ่านหนังสือจึงเฉลี่ยไปยังการอ่านเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ต่าง ๆ การที่จะเข้าใจเครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่พวกนี้จำเป็นต้องอาศัยความอดทน และเวลาในการอ่าน ทดลองทำตามหนังสือที่เขียนไว้ การอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป อ่านสะสมบ่อย ๆ เหมือนชาร์ตแบตเตอรี จะเร่งแบบชาร์ตเร็วไม่ค่อยได้ผล ทำให้แบตฯเสื่อมเร็ว ได้เปิดโลกสู่การเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ตด้วยการอ่าน โชคดีอีกอย่างคือเราสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้อีกภาษาหนึ่งทำให้เปิดประตูสู่ความรู้ได้กว้างขึ้น ได้รวบรวมเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์สำหรับครูภาษาอังกฤษและนักเรียน อ่านแล้วรวบรวมข้อมูล ไฟล์เสียง ภาพที่เป็นประโยชน์สำหรับครูและนักเรียนเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนในห้องเรียนได้ด้วย จากการที่ได้ร่วมงานกับฝรั่งอาสาสมัครที่มาสอนที่โรงเรียนมีหลากหลายอาชีพกว่า 20 คนในสี่ปีที่ผ่านมา พบว่าฝรั่งมีนิสัยรักการอ่านมากกว่าคนไทยจริง เขาจะพกพาหนังสือเล่มใหญ่ ๆ ติดตัวแทบตลอดเวลา เมื่อว่างหรือให้นั่งรอเขาบอกเราว่าไม่ต้องห่วงฉันมีหนังสืออ่านรอได้ เห็นหนังสือเขาแล้วก็ต้องยอมรับต้องใช้เวลาในการอ่านไม่น้อยแต่เขาจะค่อย ๆ อ่านไปเรื่อย ๆ อ่านอย่างได้อรรถรส เกือบทุกคนสามารถพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วมาก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า วัฒนธรรมในการอ่านของเขาช่วยทำให้เขาสร้างและพัฒนาชาติให้เจริญก้าวหน้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมั่งคั่งได้ สามารถประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง มีประโยชน์ต่อมนุษย์ เอามาขายราคาแพงให้คนชาติอื่นใช้ ความรู้ที่คนของเขามีเขาบันทึกไว้ คนรุ่นหลังมาอ่านต่อ รับช่วงกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงเมื่อได้ทราบข่าวว่าสำนักวิจัยสวนดุสิตได้วิจัยพบว่านักศึกษาในกรุงเทพมหานครอ่านหนังสือวันละ 16 นาที แต่พูดโทรศัพท์วันละเป็นชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าเขายุ่งอยู่กับการ “ส่งสาร” จนไม่มีเวลา “รับสาร” ในแต่ละวันเราได้อะไรจากการอ่านหลายอย่าง สำหรับผมบ่อยครั้งเป็นการอ่านเพื่อพักผ่อนและคลายเครียด ในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มพูนความรู้ไปในตัว ทำให้เป็นคนทันโลก ทันเหตุการณ์ ตอนนี้ก็กำลังชักชวนนักเรียนชั้น ม. 4 ที่เรียนภาษาอังกฤษด้วยจำนวนเกือบ 300 คน มีอีเมล์ของ hotmail ทุกคน เพื่อรับบทเรียนทางอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการสื่อสาร อ่านข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เป็นการศึกษาแบบ E-Learning ตามนโยบายของโรงเรียนในฝันและโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แต่การอ่านของนักเรียนอาจมีอุปสรรคเพราะสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นคู่แข่งที่มีอิทธิพลไม่น้อย เช่น รายการทีวีที่มีสาระน้อย(น้ำเน่า) โทรศัพท์มือถือที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเสพติดเข้าไปทุกวัน เครื่องเล่น MP3 ที่จะต้องมีเสียงเพลงเกือบตลอดเวลาที่ตื่น ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา เกมคอมพิวเตอร์ที่น่าตื่นเต้นและสมจริง ในอดีตหลายร้อยปีผ่านมาหนังสือมีจำกัด เขาจึงยกย่องคนที่ฟังมากว่าเป็นพหูสูต เป็นผู้รู้นักปราชญ์ เป็นปัญญาชน ปัจจุบันการพิมพ์หนังสือทำได้ง่าย หนังสือหาอ่านได้ง่ายขึ้น ความสำคัญของการอ่านจึงมีมากกว่าในอดีต ผมต้องการให้นักเรียนที่ผมสอนเป็นคนที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ และคำนึงอยู่เสมอว่า “อ่านนิดฉลาดน้อย อ่านบ่อยฉลาดมา
แหล่งข้อมูลบทความจาก **ครูหนู – ครูหนูพูล โรงเรียนนบ้านดุงวิทยา
บทความนี้ต้องการจุดประกายให้นักเรียนได้เห็นความสำคัญของการอ่าน และลงมืออ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น